Column Right

การละเมิดลิขสิทธิ์ในสถานศึกษา


สถานศึกษาส่วนใหญ่ในปัจจุบันแม้ว่าจะเริ่มให้ความสนใจต่อปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์กันอย่างจริงจัง แต่จากสภาพความเป็นจริง พบว่า ครู บุคลากรทางการศึกษา รวมถึงนักเรียน นักศึกษา ยังขาดความเข้าใจในสิทธิของการไฟล์ข้อมูลมัลติมีเดียต่างๆ โดยเฉพาะการใช้โปรแกรมหรือตัวซอฟท์แวร์ที่มีอยู่ภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ ของหน่วยงานสถานศึกษาที่มีอยู่ว่าถูกต้องลิขสิทธิ์หรือไม่
 ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในสถานศึกษา
ตามกฎหมาย การรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิ์ในโปรแกรม หรือซอฟท์แวร์ดังกล่าวจะตกเป็นของผู้ครอบครองการใช้งานในเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นๆ รวมถึงผู้บริหารสถานศึกษาแห่งนั้นด้วย
    
ลิขสิทธิ์ในที่นี้ มีอยู่ 3 ลักษณะ อันได้แก่
1. ลิขสิทธิ์ในตัวโปรแกรมหรือ ซอฟท์แวร์ที่ติดตั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์สถานศึกษา
2. ลิขสิทธิ์ของผลงานทางวิชาการของครู นักการศึกษา สถานศึกษาและบุคคลด้านอื่นๆ
3. ลิขสิทธิ์ผลงานสื่อรูปแบบต่างๆที่นำเข้ามาไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของสถานศึกษา อาทิ ไฟล์เพลง ไฟล์วิดีทัศน์ หรือมัลติมีเดียในรูปแบบต่างๆที่จุดประสงค์หลักผู้สร้าง ทำไว้เพื่อเชิงพาณิชย์

ปัจจุบันพบว่าสถานศึกษามีศักยภาพในการจัดการศึกษา มีห้องคอมพิวเตอร์เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ มีโปรแกรมสำหรับใช้ ดำเนินกิจกรรมทางการศึกษาที่หลากหลาย แต่สถานศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักถึงสิทธิที่มีในโปรแกรมหรือซอฟท์แวร์เหล่านั้น ซึ่งพบว่า โปรแกรมหรือซอฟท์แวร์ที่มีอยู่นั้นเป็นโปรแกรมซอฟท์แวร์ผิดกฎหมาย ละเมิดลิขสิทธิ์แทบทั้งสิ้น นอกจากนี้การพัฒนาโครงข่ายของสถานศึกษา เพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอน แต่ในเวลาเดียวกันก็พบว่า ช่องทางสำหรับการรับส่งสัญญาณ (Bandwidth) ของสถานศึกษานั้นอาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดโดยอาจเป็นแหล่งที่เก็บข้อมูล สื่อละเมิดสิทธิ์ และละเมิดลิขสิทธิ์ต่างๆ (อาทิ ผลงานทางวิชาการต่างๆ ไฟล์เพลง ไฟล์วิดีทัศน์ รูปภาพ ที่มีจุดประสงค์ในเชิงพาณิชย์ โปรแกรมหรือ ซอฟท์แวร์ต่างๆ) และอาจเป็นเครือข่ายออนไลน์ที่เป็นต้นทางในการป้อนหรือคัดลอกข้อมูลให้แก่ผู้ดาวน์โหลดทั่วโลก การใช้ไฟล์ร่วมกันอย่างผิดกฎหมาย (illegal file-sharing) อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เครือข่ายคอมพิวเตอร์ อันเนื่องมาจากการได้รับไวรัสคอมพิวเตอร์ การจารกรรมข้อมูล และการคุกคามความปลอดภัยทางข้อมูลของสถานศึกษาด้วย
การละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าว ทั้งครูผู้สอน ผู้เรียน ของหน่วยงานสถานศึกษาต้องถูกไต่สวนทางกฎหมาย ซึ่งถือได้ว่าการกระทำความผิด รวมถึงหน่วยงาน สถานศึกษาอาจต้องร่วมรับผิดชอบจากผลของการกระทำดังกล่าวด้วยเช่นกัน
ตามหลักการแล้วสถาบันการศึกษามีหน้าที่ในการสร้างทัศนคติของนักศึกษาที่มีต่อเรื่องลิขสิทธิ์ ซึ่งก็มีขั้นตอนมาก มายที่สถาบันการศึกษาสามารถทำได้และควรกระทำเพื่อเป็นการป้องกัน หรือเฝ้าระวังพฤติกรรมการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งเกี่ยวโยงถึงปัญหาด้านความปลอดภัยต่อเครือข่าย รวมถึงการสื่อสารการทำความเข้าใจและให้ความรู้แก่นักศึกษา และบุคคลากรที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง การเฝ้าระวังเพื่อให้สภาวะออนไลน์มีความปลอดภัย และการใช้เครื่องมือป้องกัน ทางเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ
 การวิเคราะห์ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในสถานศึกษา
ปัจจัยหลักที่พบในหน่วยงานสถานศึกษา ส่วนใหญ่ มาจากการใช้งานซอฟท์แวร์เถื่อน การเข้าถึงข้อมูลออนไลน์แล้วนำไปแสวงหาผลประโยชน์ ทั้งส่วนตนเอง และทางการค้า ไม่ว่าจะเป็นผลงานทางวิชาการ สื่อมัลติมีเดีย จำพวกเพลง วิดีทัศน์ ที่มีผู้นำมาวางไว้บนเครือข่าย ปัญหาเหล่านี้มาจาก การขาดงบประมาณด้านการซื้อซอฟท์แวร์ ขาดการให้ความรู้ด้านสิทธิในซอฟท์แวร์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ หรือสิทธิของการใช้สื่อมัลติมีเดีย เพราะผู้ใช้ในหน่วยงาน สถานศึกษา ต่างไม่ได้รับรู้ว่า โปรแกรมการใช้งานที่มีอยู่ในเครื่องของหน่วยงานสถานศึกษานั้นถูกกฎหมายหรือไม่ บางรายไม่เข้าใจถึงสิทธิการครอบครองของซอฟท์แวร์ ที่สำคัญเป็นความเคยชินในการซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องต่างเข้าใจว่า เมื่อซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ ก็จะได้โปรแกรมต่างๆ ติดมาด้วย ดังนั้น หน่วยงาน สถานศึกษา จำเป็นต้องมีการให้ความรู้ และให้เกิดการตระหนักของการใช้งานคอมพิวเตอร์ รวมถึงสิทธิต่างๆที่ผู้ใช้งานจำเป็นต้องรับทราบ

 แนวทางการแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในสถานศึกษา
หน่วยงานทางการศึกษา บุคลากรในองค์กร ต้องร่วมกันศึกษา วางแผน และดำเนินการ
1. จัดแผนการพัฒนา การปรับปรุง การใช้โปรแกรมหรือซอฟท์แวร์ลิขสิทธิ์
โดยการสำรวจความต้องการในหน่วยงานถึงความจำเป็นในการใช้โปรแกรม ทำการตรวจสอบเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อปลดโปรแกรมหรือซอฟท์แวร์ที่ไม่จำเป็นต่อการใช้งานออกจากระบบ

2.จัดงบประมาณเพื่อจัดซื้อโปรแกรมหรือซอฟท์แวร์นำมาติดตั้ง
ซึ่งงบประมาณดังกล่าวต้องใช้เป็นจำนวนมาก ไม่อาจเสร็จสิ้นในทันทีในปีหนึ่งได้ จึงต้องดำเนินการเป็นช่วงเวลาโดยอาจจะตั้งเป็นแผนระยะยาว 3-5 ปี

3. การให้ความรู้ การสื่อสารทำความเข้าใจ รวมถึงข้อกฎหมาย กำหนดนโยบายด้านลิขสิทธิ์ที่เหมาะสม
เร่งรัดการให้ความรู้แก่ครูผู้สอนและผู้เรียนให้เข้าใจว่าการใช้โปรแกรมหรือซอฟท์แวร์ที่นำมาจากแหล่งอื่น ไม่ได้เป็นผู้ถือครองสิทธิ์ จึงไม่มีสิทธิ์ในการใช้ รวมถึงคัดลอกและการถ่ายโอนข้อมูล งาน หรือ ไฟล์เพลง ไฟล์วิดีโอ ไฟล์มัลติมีเดียต่างๆ หรืองานที่สร้างสรรค์ของบุคคลอื่นๆโดยไม่ได้รับอนุญาตถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และผิดกฎหมาย

4. กำหนดแนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยของเครือข่ายให้เป็นมาตรการของสถานศึกษา
มีคณะทำงานเพื่อทำการตรวจสอบสิ่งที่อยู่ในคอมพิวเตอร์และลบเนื้อหาหรือข้อมูลที่ละเมิดลิขสิทธิ์ออก นอกจากกรณีที่สถาบันการศึกษา ต้องตรวจสอบระบบคอมพิวเตอร์ของสถานศึกษา เพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ อาทิ การใช้โปรแกรมหรือซอฟแวร์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไฟล์เพลง ไฟล์วิดีโอ ไฟล์มัลติมีเดียต่างๆ และงานสร้างสรรค์ประเภทอื่นๆ ที่มีลิขสิทธิ์ไว้ในรายการเพื่อที่ต้องทำการตรวจสอบอีกด้วย
โดยปกติแล้ว เจ้าของลิขสิทธิ์ในงานสิ่งบันทึกเสียงที่มีการจำหน่ายในปัจจุบัน อาทิ เช่น เทป, ซีดี, ดีวีดี รวมถึง การอนุญาตให้ดาวน์โหลดผ่านระบบออนไลน์ ไม่เคยอนุญาตให้มีการคัดลอกสำเนาเพลง, ไม่เคยอนุญาตให้มีการจัดเก็บข้อมูลบนเครือข่ายออนไลน์ และไม่เคยอนุญาตให้มีการแจกจ่ายเพลงอันมี ลิขสิทธิ์เหล่านั้นทางอินเทอร์เน็ต ยกเว้นจะดำเนินการโดยผ่านผู้ให้บริการทางดนตรี หรือเสียงเพลงที่ได้รับการรับรองโดยถูกต้องตามกฎหมาย หรือภายใต้สัญญาข้อตกลงที่ชัดเจนจากเจ้าของลิขสิทธิ์

ดังนั้น..... “การทำซ้ำเพื่อส่วนตัว” “การใช้งานเพื่อการศึกษา” “การใช้งานตามข้อยกเว้นของกฎหมาย” “การทำสำเนาเพื่อการทดลองใช้” หรือข้ออ้างอื่นใดดังกล่าว ไม่ได้มีความหมายว่าเป็นการอนุญาตให้มีการจัดเก็บหรือส่งต่อเพลง หรือข้อมูลในสิ่งบันทึกเสียงที่จัดทำเพื่อจำหน่ายในทางการค้าผ่านระบบห้องสมุด หรือผ่านเครือข่ายของสถานศึกษาใดๆ

5. ศึกษาแนวทางการนำเทคโนโลยีเพื่อควบคุมการใช้ไฟล์ข้อมูลร่วมกัน (FILE-SHARING)
ปัจจุบันได้มีเทคโนโลยีใหม่ๆที่ออกมาจำหน่ายเพื่อวัตถุประสงค์ ในการจัดการหรือป้องกันพฤติกรรมการใช้ไฟล์ข้อมูลร่วมกันที่ผิดกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะ การป้องกันการใช้โปรแกรมการแลกเปลี่ยนไฟล์โดยตรงโดยไม่ผ่านเซิร์ฟเวอร์กลาง (P2P) ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตการจำกัดการติดตั้งซอฟแวร์และกิจกรรมการใช้ไฟล์ร่วมกันที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่ถูกต้องบนระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยนั้น เป็นแนวทางง่าย ๆ แนวทางหนึ่งในการลดปัญหาด้านลิขสิทธิ์และความปลอดภัย หยุดการละเมิดลิขสิทธิ์ในวงกว้างก่อนที่จะเกิดการละเมิดขึ้น

การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ คือ การคัดลอกหรือแจกจ่ายซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งสามารถกระทำได้ด้วยการคัดลอก ดาวน์โหลด แลกเปลี่ยน ขาย หรือติดตั้งหลายสำเนาไว้ในคอมพิวเตอร์ส่วนตัวหรือที่ทำงาน สิ่งที่ผู้คนจำนวนมากไม่ได้ตระหนักหรือคาดคิดคือเมื่อคุณซื้อซอฟต์แวร์ จะหมายถึงคุณกำลังซื้อใบอนุญาตเพื่อใช้ซอฟต์แวร์ ไม่ใช่การซื้อซอฟต์แวร์จริง ใบอนุญาตจะบอกให้ผู้ซื้อทราบถึงจำนวนครั้งที่คุณสามารถติดตั้งซอฟต์แวร์ได้ ดังนั้นจึงมีความสำคัญมากที่จะต้องอ่าน หากผู้ซื้อคัดลอกซอฟต์แวร์มากกว่าที่ใบอนุญาตกำหนด นั่นหมายถึงผู้ซื้อกำลังทำผิดกฎหมาย

ปัจจุบันพบว่า อัตราการละเมิดสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นส่วนบุคคล การล่วงละเมิดไปยังองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน มีอีตราแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าใน 20 อันดับของประเทศทั่วโลกของปี 2554  ยังคงไม่แตกต่างไปจากปี 2553 ซึ่งยังไม่ปรากฏมีประเทศไทยก็ตาม แต่จากการประเมินเฉพาะการละเมิดลิขสิทธิ์ทางด้านซอฟท์แวร์อย่างเดียวโดย BSA* ประเทศไทยก็อยู่ในลำดับต้นๆของธุรกิจซอฟท์แวร์เถื่อน นอกจากนี้การบุกรุกเข้าเครือข่ายของภาครัฐและเอกชน เริ่มมี การเข้าถึงระบบอย่างต่อเนื่อง ทำให้หน่วยงาน ทั้งราชการต้องให้ความสำคัญต่อภัยร้ายในด้านนี้ โดยกำหนดลงในเกณฑ์การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ว่าด้วยส่วนราชการจะต้องมีระบบรองรับภาวะฉุกเฉินด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งได้ดำเนินการให้ส่วนราชการทุกหน่วยงานในสังกัดของทุกกระทรวง ได้จัดทำแผนสำรองภาวะฉุกเฉินด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นประจำทุกปี อย่างต่อเนื่อง
หมายเหตุ
BSA : กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) เป็นสมาคมเพื่อการค้าที่ไม่หวังผลกำไร จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และพันธมิตรด้านฮาร์ดแวร์ เป็นองค์กรระดับแนวหน้าที่ทุ่มเทเพื่อส่งเสริมโลกดิจิตัลที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย บีเอสเอ มีสำนักงานใหญ่ในกรุงวอชิงตันดีซี ดำเนินงานในประเทศต่างๆ กว่า 80 แห่ง และมีเจ้าหน้าที่ในสำนักงาน 11 แห่งทั่วโลก: บรัสเซลส์ ลอนดอน มิวนิค ปักกิ่ง เดลี จาการ์ตา กัวลาลัมเปอร์ ไทเป โตเกียว สิงคโปร์ และเซาเปาโล สมาชิกของ บีเอสเอ
ภารกิจทั่วโลกของ บีเอสเอ คือ การส่งเสริมสภาวะการทำงานเชิงกฎหมายในระยะยาว ซึ่งอุตสาหกรรมจะสามารถเติบโต และมีความเป็นเอกภาพให้แก่สมาชิกทั่วโลก โปรแกรมของ บีเอสเอ ส่งเสริมนวัตกรรม การเติบโต และการตลาดที่มีการแข่งขันสำหรับซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง สมาชิกของ บีเอสเอ มีความเชื่อมั่นในอนาคตของอุตสาหกรรม แต่เชื่อว่าอนาคตนั้นไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือบริษัทต่างๆ จะต้องร่วมมือกันเพื่อรับมือกับปัญหาที่มีผลเสียต่อนวัตกรรม
ศึกษาเพิ่มเติมที่ http://www.bsa.org/
*ส่วนหนึ่งจาก หลักสูตร เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการศึกษาสำหรับครู โดย สุวัฒน์ ธรรมสุนทร

ไม่มีความคิดเห็น

Do not recommend gambling sites of any kind. If violated, will be prosecuted according to the law.

ขอบคุณที่ได้ให้ความสนใจบทความ ใน mediathailand network ครับ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

new story

Recent Posts Widget