Column Right

การศึกษาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน

“การศึกษาคือกระบวนการที่ทำให้คนและสังคมเจริญงอกงาม ยิ่งเรียนยิ่งขยัน ยิ่งเรียนยิ่งอดทน ยิ่งเรียนยิ่งซื่อสัตย์ ยิ่งเรียนยิ่งมีความกตัญญู ยิ่งเรียนยิ่งรักปู่ย่าตายาย ดูแลปู่ย่าตายาย ไปไหนก็ดูแลซึ่งกันและกัน บ้านเมืองก็จะมีแต่ความสุข”

เนื้อหาในส่วนนี้ได้รวบรวมสาระ แนวคิด บทความของท่าน ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ ที่เป็นผู้ให้นิยาม คำว่า คิดเป็น"กระบวนการคิดเพื่อตัดสินใจ" โดยใช้ข้อมูล 3 ด้าน คือ ข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทาง สังคมหรือสิ่งแวดล้อม และข้อมูลทางวิชาการ ปรัชญา "คิดเป็น" มีรายละเอียดและสาระที่น่าศึกษา

การศึกษาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน : บนฐานภูมิปัญญาและการมี ส่วนร่วมของประชาชน
ตามแนวคิด ดร. โกวิท วรพิพัฒน์

"คิดเป็น มาจากแนวคิดที่ว่า ธรรมชาติของมนุษย์ ทุกคนต้องการความสุข คนคิดเป็นจะสามารถดำรงชีวิต ให้พบความสุขได้"

กระแสความคิดที่ชัดเจนของคณะศึกษาอีกประการหนึ่ง นั่นคือ การใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจสังคมให้แก่ชุมชน ท้องถิ่นทั่วประเทศ ซึ่งในระยะเวลาที่ผ่านมานั้น ทิศทางการพัฒนาประเทศเป็นการพัฒนาแบบรวมศูนย์ เป็นการพัฒนาที่มุ่งหวังแต่ความเจริญในระดับมหภาค จนทำให้ชุมชนชนบท ซึ่งคนพี่น้องชาวไทยของเรากว่า ร้อยละ 70 ยังใช้เป็นฐานในการดำรงชีวิต ถูกมองเป็นเพียงฐานวัตถุดิบและสายพานลำเลียงแรงงานเข้าสู่เมืองใหญ่ การพัฒนาประเทศที่ผ่านมาในรอบ 30 - 40 ปีจึงกลายเป็นการพัฒนาที่ค่อยๆ ทำให้ชนบทอ่อนแอลงเป็นลำดับ ทั้งในแง่กำลังคนและในแง่ศักยภาพการผลิต


แนวคิดใหม่ของการพัฒนาจึงเน้นการพลิกฟื้นความเข้มแข็งของชุมชน ให้มีขีดความสามารถในการผลิตและแข่งขันได้ด้วยตนเอง เน้นรูปแบบเศรษฐกิจพอเพียงตามกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ให้ชุมชนท้องถิ่นต่างๆ พึ่งตนเองได้ในแง่ปัจจัยการดำรงชีวิต และในขณะเดียวกันก็สามารถที่จะมีขีดความสามารถในการผลิตเพื่อขายได้ในระดับหนึ่งด้วย

ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจพอเพียง ให้บังเกิดขึ้นในชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศไทยได้นั้น ก็คงหนีไม่พ้นปัจจัยเรื่องกำลังคนเป็นสำคัญ แนวคิดของคณะศึกษาจึงมุ่งเน้นที่การผลลิตและพัฒนากำลังคนในท้องถิ่นต่างๆ ให้เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถขั้นพื้นฐานที่จะประกอบอาชีพและดำรงชีวิตอยู่ในชนบทได้ แต่ที่สำคัญยิ่งก็คือ การปลูกฝังให้เยาวชนที่จะเติบโตขึ้นเป็นกำลังของท้องถิ่นเหล่านี้ มีความรัก มีความผูกพันต่อท้องถิ่น

ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ เป็นผู้หนึ่งที่เน้นรูปแบบการศึกษายุคใหม่ที่ปลูกฝังความรัก ความผูกพันกับท้องถิ่นให้แก่เด็กๆ และในขณะเดียวกันก็ให้ทักษะความรู้ความสามารถเพื่อที่เด็กเหล่านี้จะเติบโตขึ้น เป็นกำลังการผลิตที่เก่งกล้าสามารถได้ ไม่ว่าจะอยู่ในท้องถิ่นห่างไกลเพียงใด ท่านกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า "การเรียนจะให้รักถิ่นได้ มันต้องมีความรู้สึกว่า ถิ่นเรานี้เลี้ยงเราได้ เรามีเกียรติเพราะอยู่ในถิ่นของเรา สามารถที่จะไปไหนมาไหนได้ โดยที่ช่วยเหลือคนอื่นได้ ช่วยเหลือตัวเราเองได้ ขณะนี้การเรียนการสอนของเราสักแต่สอนให้รักถิ่นแต่ปาก แต่มิได้แสดงให้เด็กเห็นและเชื่ออย่างชัดเจนว่า ท้องถิ่นของเขา จะทำให้เขาอยู่รอดอย่างมีเกียรติในสังคมได้อย่างไร"



ดร.โกวิท กล่าววิจารณ์เรื่องนี้ต่อไปว่า "เดี๋ยวนี้บัณฑิตจบใหม่ ก็ไม่กลับไปบ้านตัวเอง ไม่ไปช่วยพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง เป็นปรากฏการณ์ธรรมดาที่เห็นรุ่นแล้วรุ่นเล่า เพราะงานการดีๆ มีแต่ในเมืองหลวง นักศึกษาเดี๋ยวนี้ก็เล่าเรียนกันแต่เรื่องสภาพของเมืองหลวง ไม่ค่อยได้เรียนเกี่ยวกับชนบท เกี่ยวกับท้องถิ่นของตนเอง ที่จริงเมืองอยู่ได้ด้วยชนบท และชนบทก็อยู่ได้เพราะเมือง เพราะฉะนั้นการเรียนจึงจำเป็นต้องเรียนเกี่ยวกับท้องถิ่น ให้รู้ในสิ่งที่ใกล้ตัวเองก่อน รู้เกี่ยวกับความเป็นมาของท้องถิ่น ปัญหาของท้องถิ่น เรียนรู้คู่ไปกับการลองทำจริงๆ ให้เห็นโอกาสและความหวังในท้องถิ่นของตนเอง จากนั้นค่อยไปเรียนเรื่องไกลตัวเรื่องเมือง ก็จะทำให้คนคนนั้นเป็นคนที่มีความรู้รอบตัว สามารถพัฒนาตนเอง อยู่ในชนบทก็ได้ หรือจะมาสานงาน สร้างงานอยู่ในเมืองก็ได้"

แนวคิดสำคัญของคณะศึกษาในการส่งเสริมเรื่องการศึกษา เพื่อความเข้มแข็งของชุมชนนั้น เน้นที่การปลุกพลังชุมชนขึ้นมาบนฐานภูมิปัญญา และการทำงานร่วมกันของคนในชุมชน ควบคู่ไปกับแนวทางการปฏิรูประบบบริหารการศึกษา ที่กระจายอำนาจการจัดการศึกษาไปสู่หน่วยงานในระดับท้องถิ่นให้มากขึ้น เพื่อให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดหลักสูตรการเรียนการสอน และการบริหารทรัพยากรของโรงเรียนตามสภาพ ความต้องการ ความเชื่อ ตลอดจนรากเหง้าทางวัฒนธรรม อันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนในท้องถิ่นนั้นๆ เอง



ไม่มีความคิดเห็น

Do not recommend gambling sites of any kind. If violated, will be prosecuted according to the law.

ขอบคุณที่ได้ให้ความสนใจบทความ ใน mediathailand network ครับ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

new story

Recent Posts Widget